ครม.ได้ไฟเขียว “มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์” สำหรับบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยสามารถหักรายจ่ายเป็น 2 เท่า สำหรับรายจ่ายลงทุนเพื่อรองรับระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ คือ
- e-Tax Invoice & e-Receipt
- ระบบ POS
- Withholding Tax
โดยจะมีรายละเอียด ดังนี้
e-Tax Invoice & e-Receipt
ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและออกหรือรับใบกำกับภาษีหรือใบรับ หักรายจ่ายเพื่อการลงทุนได้เป็น 2 เท่าของที่จ่ายจริงสำหรับรายจ่ายดังต่อไปนี้
- รายจ่ายเพื่อการลงทุนในการพัฒนาระบบ เครื่อง คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์จัดเก็บใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อพัฒนาระบบจัดทำ หรือส่งมอบ หรือรับส่ง หรือเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์สำหรับกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นหรือคู่ค้า
- รายจ่ายเพื่อค่าบริการระบบคลาวด์ ค่าบริการใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ ค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ให้บริการจัดทำ หรือส่งมอบ หรือเก็บรักษาใบกำกับภาษีหรือใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Service Provider) ที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร
ทั้งนี้ ไม่ให้รวมถึงรายจ่ายของผู้ให้บริการจัดทำ หรือส่งมอบ หรือเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้บริการ (Service Provider)
ระบบ POS
ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หักรายจ่ายเพื่อการลงทุนได้เป็น 2 เท่าของที่จ่ายจริง สำหรับรายจ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่ต่อเชื่อมเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์เป็นระบบ POS (Point of Sale) ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด และโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อระบบ POS ซึ่งเชื่อมโยงกับการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์
Withholding Tax
ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินได้และผู้ให้บริการการชำระเงินตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน หักรายจ่ายเพื่อการลงทุนได้เป็น 2 เท่าของที่จ่ายจริงสำหรับรายจ่ายดังต่อไปนี้
- รายจ่ายเพื่อการลงทุนในการพัฒนาระบบเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์จัดเก็บใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อระบบภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์
- รายจ่ายค่าบริการระบบคลาวด์ ค่าบริการใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อระบบภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์
หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข มีดังนี้
- ต้องเป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562
- ให้ใช้สิทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มใช้การจริง (มีการจัดทำ ส่งมอบและเก็บรักษาใบกํากับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ มีการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน POS หรือมีการใช้ระบบภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์)
- ทรัพย์สินต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
- ต้องไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน
- ต้องสามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร
- ต้องได้มาและได้ใช้การจริงภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ทั้งนี้ กำหนดให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจในการขยายระยะเวลาดังกล่าว
- ต้องไม่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรฉบับอื่น ๆ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
- ต้องอยู่ในราชอาณาจักรไทย
- ต้องใช้ระบบใบกํากับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และระบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ระบบภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่อง POS แล้วแต่กรณี เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 รอบระยะเวลาบัญชีติดต่อกัน โดยนับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มใช้ระบบเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรก
- เครื่อง POS ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามข้อ 2 ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
- ต้องเชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อระบบ POS
- ต้องออกใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากรได้
- ต้องบันทึกรายละเอียดการขาย และยอดขายได้
- ต้องแยกภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากราคาสินค้าและบริการได้
- ต้องเชื่อมต่อกับเครื่อง EDC
- ต้องรับและส่งข้อมูลจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละรายการที่รับชำระค่าสินค้าและบริการได้
- กรณีได้ใช้สิทธิไปแล้วและต่อมาพบว่าไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งที่กำหนดในรอบระยะเวลาบัญชีใด ต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิไปแล้วไปรวมเป็นรายได้ในการคํานวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น เว้นแต่กรณีทรัพย์สินถูกทำลายหรือสูญหายหรือสิ้นสภาพ ไม่ต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิไปแล้วไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก
- หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่น ๆ ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ คือ ส่งเสริมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งสอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน
ขอบคุณข้อมูลจาก ETDA THAILAND