You are currently viewing “ภาษี” กับ “การลงทุน”
ภาษี กับ การลงทุน

“ภาษี” กับ “การลงทุน”

  • Post author:
  • Post category:e-tax invoice

เปิดปี 2565 มาก็มีประเด็น ภาษี เกี่ยวกับ การลงทุน มาทำให้นักลงทุนสายคริปโตฯ ว้าวุ่นหัวใจจนแทบนอนไม่หลับ เพราะลือกันว่า รัฐจะจัดเก็บภาษีคริปโตฯ หัก ณ ที่จ่ายสูงกว่า 15% ทำให้นักลงทุนที่กำลังสนใจหรือมีไว้ในครอบครองเริ่มรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ กันบ้างว่า แค่ลุ้นดอยก็เหนื่อยจะแย่ ต้องมาคิดเรื่องจะขาดทุนเพราะภาษีอีก เลยไม่รู้จะเลือกลงทุนอะไรให้คุ้มกว่ากัน getInvoice เลยเก็บข้อมูลมาฝากสำหรับนักลงทุนที่กำลังคิดอยู่ว่า จะลงทุนอะไรให้คุ้มในเรื่องของภาษีมากที่สุด…

ลงทุนในนามบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล แบบไหนดีกว่ากัน?

เชื่อว่า ผู้อ่านบางท่านอาจจะเป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของบริษัท ดังนั้นก่อนที่จะไปพูดถึงภาษีกับการลงทุนแต่ละประเภท เลยอยากมาพูดถึงเรื่องการจะลงทุนในนามบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล แบบไหนได้เปรียบในเรื่องของภาษีดีกว่ากัน ในมุมมองของเราอยากแนะนำให้เลือกแบบบุคคลธรรมดาจะดีกว่า เพราะการลงทุนบางรูปแบบคุณอาจได้ประโยชน์ทางภาษีบ้าง เช่น แม้จะขายได้กำไรก็อาจไม่ต้องเสียภาษี หรือบางทีก็นำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น ต่างจากนิติบุคคล ทุกกำไรที่เกิดขึ้นจะต้องนำไปคำนวณเป็นภาษีเงินได้ของนิติบุคคลนั้นทั้งหมด

หุ้น จัดเก็บภาษีตอนไหน?

ปกติภาษีที่คนเล่นหุ้นจะต้องคอยดูมี 2 ส่วนคือ ตอนขาย กับ ตอนจ่ายปันผล โดยตอนขายจะมีการจัดเก็บภาษี 2 รูปแบบ คือ

  • Capital Gain Tax หรือ ภาษีจากกำไรส่วนต่าง ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ตามปกติได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี
  • Financial Transaction Tax หรือภาษีขายหุ้น ในตลาดเกิน 1 ล้านบาทขึ้นไป ต้องเสียภาษีในอัตรา 0.1% ของมูลค่าขาย (เคยได้รับการยกเว้น ปัจจุบันมีการเสนอให้นำกลับมาใช้เรียกเก็บอีกครั้ง)

– ภาษีจากเงินปันผลหุ้น จะต้องหัก ณ ที่จ่าย 10% ของเงินปันผล แต่ละท่านจะเอาไปรวมกับเงินได้ เพื่อคำนวณภาษีอีกก็ได้ ถ้านำไปรวมเงินได้ก็จะได้เครดิตภาษีเงินปันผล หมดปัญหาคิดภาษีซ้ำซ้อนจากเงินก้อนเดิม หรือถ้ารายได้สุทธิรวมแล้วไม่ถึงเกณฑ์ก็สามารถขอคืนภาษีได้

– ภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทหลักทรัพย์ ร้อยละ 7 ของค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการที่ฝั่งนั้นเรียกเก็บ

กองทุนรวม สามารถลดหย่อน ภาษี ได้

ภาษีของกองทุนรวมจะคล้ายกับภาษีหุ้นพอสมควร โดยในส่วนกำไรส่วนต่างจากการขายก็ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเหมือนกัน จะถูกเก็บก็ต่อเมื่อได้กำไรจากเงินปันผล โดยหัก ณ ที่จ่าย 10% สามารถขอคืนภาษีเมื่อเงินได้สุทธิไม่ถึงเกณฑ์ได้เช่นกัน แต่การลงทุนในกองทุนรวมจะแตกต่างจากการลงทุนประเภทอื่นเล็กน้อยตรงที่ กองทุนรวมบางรูปแบบสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ เช่น

กองทุนรวม RMF สามารถเอาค่าซื้อกองทุนไปหักลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวนราคาที่ซื้อ จะลดหย่อนได้ถึง 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่เมื่อนำจำนวนที่ซื้อกองทุนรวม RMF ไปรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและประกันบำนาญต้องไม่เกิน 500,000 บาท

กองทุนรวม SSF อีกหนึ่งกองทุนที่น่าสนใจ เพราะนำค่าซื้อกองทุนไปใช้ลดหย่อนภาษีได้จริงตามที่จ่าย หรือไม่เกิน 30% ของเงินได้สุทธิที่ต้องนำไปเสียภาษี ซึ่งถือว่า มากกว่ากองทุนประเภทอื่นพอสมควร แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และต้องถือครอง 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ

กองทุนรวม LTF สามารถเอาค่าซื้อกองทุนไปหักลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวน แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้สุทธิที่ต้องนำไปเสียภาษี และไม่เกิน 500,000 บาท ปัจจุบันนี้กองทุน LTF ไม่มีแล้ว

สกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ คริปโตเคอเรนซี่ เริ่มเก็บภาษี

ฮือฮา… รับต้นปีกันไปเลยกับแนวทางเสียภาษีของคริปโตฯ ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด แต่จากที่ภาครัฐเคยประกาศออกมาคือ ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ไม่พอ ก็ยังไม่ถือเป็น Final Tax เพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับให้เป็น Final Tax อย่างปันผลหรือลงทุนประเภทอื่น เลยถูกมองให้เป็นเงินได้เหมือนรายได้จากการทำธุรกิจหรือค่าจ้างจากการทำงาน ต้องนำไปรวมเป็นกำไรรวมตลอดปีมายื่นต่อกรมสรรพากร โดยไม่ต้องแยกแต่ละธุรกรรมและไม่สามารถนำส่วนที่ขาดทุนมาหักลบได้ด้วย ส่วนคนที่ไม่ต้องเสียภาษีคือ คนที่มีรายได้จากการเทรดคริปโตฯ อย่างเดียวสร้างกำไรได้ไม่เกิน 60,000 บาท และกรณีที่ได้มากกว่า 60,000 แต่ไม่เกิน 210,000 บาท จะต้องยื่นรายการต่อสรรพากรแต่ไม่ต้องเสียภาษี ส่วนวัยเกษียณ 65 ปีขึ้นไปหรือผู้พิการถ้ามีกำไรตลอดปีไม่เกิน 400,000 บาทก็ไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน

แชร์ออนไลน์ เสี่ยงภาษี?

แนะนำให้มีบัญชีธนาคารแยกสำหรับการลงทุนประเภทนี้โดยเฉพาะ เพราะเงินจะหมุนเวียนเข้าออกบัญชีตลอดเวลาทำให้อาจเสี่ยงโดนเรียกจากภาษีอีเพย์เมนต์ได้ (มีเงินฝากเข้าบัญชี 3,000 ครั้งต่อปี ไม่ว่าจะกี่บาทก็ตาม หรือ มีเงินฝากเข้าบัญชี 400 ครั้งต่อปีและมียอดรวมกันเกิน 2,000,000 บาท ไม่นับโอนออก จะโอนออกเท่าไหร่ก็ไม่นำมารวม) แต่ถ้าเขาเรียกไปก็ไม่ต้องกังวลให้จดรายการและแสดงหลักฐานให้เรียบร้อยว่า มีส่วนกำไรตรงไหนบ้าง เพราะจะเสียภาษีจากกำไรรวมทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นมาจากต้นเงินเท่านั้น

ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง แต่เรื่องของภาษีเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องจ่ายแน่นอน เพราะฉะนั้นอย่าลืมศึกษาให้ดีทั้งเรื่องของการลงทุนและเรื่องของภาษี เพียงเท่านี้คุณก็จะสามารถลงทุนได้อย่างสบายใจ สร้างเงินเก็บให้งอกเงยได้แบบทวีคูณ ส่วนใครที่กำลังมองหาตัวช่วยจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice & e-Receipt) อย่าลืมนึกถึง getInvoice แล้วคุณจะรู้ว่า เรื่องภาษีง่ายกว่าที่คิด!