อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญของการเริ่มต้นธุรกิจ คือ การเลือกรูปแบบธุรกิจ โดยก่อนการเริ่มต้นดำเนินการ ผู้ประกอบการควรเลือกว่าจะดำเนินธุรกิจใน รูปแบบของบุคคลธรรมดา หรือ รูปแบบของนิติบุคคล แน่นอนว่ารูปแบบธุรกิจจะส่งผลไปยังการวางแผนภาษีและการจัดการบัญชีของกิจการในอนาคต ฉะนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถตัดสินใจเลือกรูปแบบธุรกิจให้เหมาะสมกับกิจการของตนเอง วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจที่ว่า ธุรกิจรูปแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเป็นอย่างไร และรูปแบบธุรกิจไหนดีกว่ากันในแง่ของบัญชีและภาษี
ก่อนจะไปดูว่าผู้ประกอบการควรเลือกแบบไหน เรามาทำความรู้จักกับรูปแบบธุรกิจแบบบุคคลธรรมดาและรูปแบบนิติบุคคลกัน
1. การดำเนินกิจการในรูปแบบบุคคลธรรมดา
กิจการขนาดเล็กที่มีเจ้าของคนเดียว ซึ่งจะสามารถบริหารจัดการทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง ในกรณีที่มีบุคคลตั้งแต่ 2 ขึ้นไป ได้มีการตกลงกันเพื่อทำธุรกิจ โดยมีการแบ่งผลประโยชน์ร่วมกันแต่ไม่ได้มีการจดบริษัท หุ้นส่วนทุกคนต้องมีการเสียภาษีแบบบุคคลธรรมดา
ข้อดีของการดำเนินธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา
- มีความคล่องตัวสูง เนื่องจากสามารถคิดและตัดสินใจได้คนเดียว ไม่ต้องรอความคิดเห็นจากผู้ถือหุ้น
- รับกำไรแต่เพียงผู้เดียว
- จัดตั้งง่าย ไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก
- ไม่ต้องจัดทำบัญชี ทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดการด้านเอกสาร
ข้อเสียของการดำเนินธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา
- มีเงินลงทุนเท่าที่เจ้าของกิจการลงไป การระดมทุนเป็นไปได้ยาก เนื่องจากขาดความน่าเชื่อถือ
- อาจถูกมองว่าไม่มีความมั่นคงทั้งด้านการเงิน และการบริหาร
- การเสียภาษีจะเป็นลักษณะเหมาจ่าย แม้ว่าปีนั้นผลประกอบการจะขาดทุน หากแต่ไม่สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักได้ ทำให้ต้องเสียภาษี
การเสียภาษีสำหรับการดำเนินธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา
อัตราภาษีสูงสุดของการดำเนินธุรกิจแบบบุคคลธรรมดาจะอยู่ที่ 35% โดยการคำนวณภาษีมี 2 วิธี
ทั้งนี้ หากคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 แล้วไม่เกิน 5,000 บาท ให้เสียภาษีตามวิธีที่ 1
การคำนวณค่าใช้จ่าย สามารถเลือกหักค่าใช้จ่าย ได้ 2 วิธี คือ
- หักแบบเหมาไม่ต้องมีหลักฐานพิสูจน์รายจ่าย จึงสะดวกและง่าย แต่ส่วนใหญ่จะหักได้น้อยกว่าหักค่าใช้จ่ายตามจริง
- หักตามจริงจะต้องมีหลักฐานพิสูจน์รายจ่ายนั้น ๆ
2. การดำเนินกิจการในรูปแบบนิติบุคคล
ธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล คือ กลุ่มบุคคลหรือองค์กรที่ตกลงทำกิจการร่วมกัน จะมีทั้งห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
ข้อดีของการดำเนินธุรกิจแบบนิติบุคคล
- มีการระดมเงินทุนจากหุ้นส่วน ทำให้มีเงินทุนหมุนเวียน
- ได้รับความน่าเชื่อถือจากบุคคลภายนอกมากกว่า เนื่องจากมีการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง ทำให้มีความน่าเชื่อถือ
- ระดมทุนจากแหล่งอื่นได้ง่าย ทั้งจากนักลงทุน หรือการขอกู้จากธนาคารก็จะเสียดอกเบี้ยน้อยกว่า
- เสียภาษีโดยคิดจากกำไรของกิจการ หากกิจการเกิดการขาดทุนจะได้รับการยกเว้นการเสียภาษี แต่ต้องมีหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าขาดทุนจริง
ข้อเสียของการดำเนินธุรกิจแบบนิติบุคคล
- มีการระดมความคิด เกิดมุมมองที่หลากหลาย แต่อาจล้าช้าและเกิดความขัดแย้งได้ง่าย
- มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ต้องมีการจัดการเอกสาร จัดทำบัญชีตามแบบของกรมสรรพากร ทำให้ในบางกิจการต้องมีการจ้างผู้ทำบัญชี เพื่อจัดการเอกสารตรงส่วนนี้ ซึ่งทำให้มีต้นทุนเพิ่มมากขึ้น
การเสียภาษีสำหรับการดำเนินธุรกิจแบบนิติบุคคล
วิธีการคำนวณ
- อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจะอยู่ที่ 20%
- สำหรับ SMEs มีการยกเว้น/ลดหย่อน อัตราภาษีในลักษณะขั้นบันได สูงสุดไม่เกิน 20% หากขาดทุน ไม่ต้องเสียภาษีและยังสามารถนำผลขาดทุนไปหักกำไรปีต่อไปได้สูงสุดถึง 5 ปีด้วย
การหักค่าใช้จ่าย
สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล สามารถนำรายการค่าใช้จ่ายบางประเภทมาหักได้มากกว่าค่าใช้จ่ายจริง เช่น การจ้างผู้สูงอายุทำงาน หักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า
สามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินบางประเภทในอัตราเร่งได้ เช่น อาคารชั่วคราว หักได้ 100% เป็นต้น
เมื่อรู้ถึงรายละเอียดของรูปแบบทั้ง 2 ประเภทแล้ว ต่อมาเราจะมาดูกันว่าธุรกิจของผู้ประกอบการ ควรใช้รูปแบบไหน ถึงจะประหยัดภาษีมากที่สุด
ธุรกิจที่ควรดำเนินการในรูปแบบบุคคลธรรมดา
เหมาะกับรูปแบบกิจการที่ไม่ซับซ้อน ยังมีรายได้ไม่มาก เนื่องจากการคิดอัตราภาษีในรูปแบบบุคคลธรรมดานั้นจะมีการคิดแบบขั้นบันได สูงสุดอยู่ที่ 35% ยิ่งกิจการมีรายได้มากเท่าไรก็จะยิ่งต้องเสียภาษีมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น กิจการที่เหมาะจะเป็นบุคคลธรรมดาควรมีรายได้สุทธิต่อปีไม่เกิน 1 ล้านบาท จะเสียภาษี 20% เฉพาะส่วนที่เกิน 750,000 บาทเท่านั้นในขณะที่นิติบุคคลที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการ SMEs จะต้องเสียภาษีจากกำไรสุทธิ 20% ตั้งแต่กำไรบาทแรก ดังนั้นธุรกิจขนาดเล็กหลายแห่งจึงมีแรงจูงใจด้านภาษี ที่จะไม่เปลี่ยนเป็นนิติบุคคล เพราะอาจทำให้ธุรกิจมีทั้งต้นทุนและอัตราภาษีมากกว่าที่เป็นอยู่
ธุรกิจที่ควรดำเนินการในรูปแบบนิติบุคคล
กิจการที่ดำเนินการในรูปแบบนิติบุคคลเหมาะกับธุรกิจขนาดใหญ่ มีรายได้เยอะ มีหลักฐานการซื้อ / ใบเสร็จรับเงิน ที่สามารถใช้เป็นหลักฐานในการใช้หักค่าใช้จ่ายได้ เพราะจะได้ผลประโยชน์ในแง่ของบัญชีและภาษีมากกว่ารูปแบบบุคคลธรรมดา เนื่องจากนิติบุคคลมีเพียงอัตราภาษีเดียวสำหรับทุกผลกำไร คือ 20% ในขณะที่ภาษีบุคคลธรรมดาจะมีการคิดแบบขั้นบันได ซึ่งมีอัตราสูงถึง 35% อีกทั้ง หากผู้ประกอบการเป็น SMEs และจดทะเบียนกิจการเป็นนิติบุคคล จะได้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐ เช่น สิทธิในการหักลดหย่อน ค่าฝึกอบรมพนักงาน ค่าประกันภัยและค่าประกันชีวิตพนักงาน เป็นต้น ดังนั้น การจดบริษัทเป็นนิติบุคคลจึงเหมาะสมกับธุรกิจประเภทนี้มากกว่า
จากที่กล่าวมาทั้งหมด การทำธุรกิจไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงแนวทางเพื่อให้เจ้าของกิจการได้นำไปปรับใช้กับธุรกิจของต้น โดยเปรียบเทียบรายได้ ขนาด ของกิจการ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่ได้จากรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเปรียบเทียบความคุ้มค่าของแต่ละรูปแบบ