November 8, 2021 : How to

E-TAX IMPLEMENTATION

สิ่งที่ควรทราบ
ก่อนทำ e-Tax invoice & e-Receipt

how to etax implementation

วัตถุประสงค์ในการทำ eTax invoice & eReceipt เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 และ National ePayment รองรับการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจร ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและการบริหารจัดการของภาครัฐและภาคเอกชน ลดการใช้เอกสารในรูปแบบกระดาษ ช่วยลดภาวะโลกร้อน เพิ่มความมั่นใจและปลอดภัยตามมาตรฐานสากล

ผู้เข้าร่วมในการจัดทำ eTax invoice & eReceipt จะได้รับประโยชน์ด้านการลดความซ้ำซ้อนและลดปัญหาการจัดการเอกสารที่อยู่ในรูปของกระดาษ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการจัดส่งเอกสาร สามารถนำข้อมูลไปใช้ประมวลผลต่อในระบบสารสนเทศภายในองค์กรได้ทันที เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ มีความน่าเชื่อถือและมีผลผูกพันทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

icon etax implementation

เอกสารที่สามารถส่งให้กรมสรรพากรและคู่ค้าได้ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ มีดังต่อไปนี้

  1. ใบกำกับภาษี (Tax Invoice) ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
  2. ใบกำกับภาษีอย่างย่อ (Tax Invoice) ตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร
  3. ใบเพิ่มหนี้ (Debit Note) ตามมาตรา 86/9 แห่งประมวลรัษฎากร
  4. ใบลดหนี้ (Credit Note) ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร
  5. ใบรับหรือใบเสร็จรับเงิน (Receipt) ตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

ซึ่งได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) หรือได้มีการประทับรับรองเวลา (Time Stamp) ด้วยระบบ e-Tax invoice by Email

icon etax implementation

ระบบ eTax invoice & eReceipt

etax invoice & ereceipt
กระบวนการจัดทำและนำส่ง eTax invoice และ eReceipt

เป็นระบบที่กรมสรรพากรพัฒนาขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ ให้ผู้ประกอบการจัดทำใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ และใบเสร็จรับเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ส่งมอบให้ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วยวิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ตามวิธีที่ตกลงกัน นอกจากนี้ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรผ่านช่องทางที่กรมสรรพากรกำหนดด้วย

icon etax implementation

ระบบ eTax invoice by Email

etax invoice by email
กระบวนการจัดทำและนำส่ง eTax invoice by email

เป็นบริการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กรมสรรพากร สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดความคุ้นเคยและเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบ สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี ที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ โดยแนบไฟล์ PDF/A-3 ส่งผ่าน Email ให้ผู้ซื้อและสำเนาให้ระบบ e-Tax invoice by Email เพื่อประทับรับรองเวลา (Time Stamp) และระบบจะส่งไฟล์ข้อมูลที่ประทับรับรองเวลาแล้วให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการและผู้ออกใบกำกับภาษีเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการทำธุรกรรม

icon etax implementation

ผู้มีสิทธิจัดทำและนำส่งใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับระบบ eTax Invoice & eReceipt

  1. ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1(6) แห่งประมวลรัษฎากรหรือมีหน้าที่ออกใบรับ ตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
  2. มีใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Certificate) ที่อยู่ภายใต้การรับรองของผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (NRCA) และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)
  3. มีระบบการควบคุมภายในที่ดี และสามารถพิสูจน์ได้ว่าใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดทำและนำส่งให้แก่ผู้รับมีความถูกต้องครบถ้วนโดยใช้วิธีการที่เชื่อถือได้
  4. ต้องไม่เป็นผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ด้วยระบบ e-Tax invoice by Email

สำหรับระบบ eTax invoice by Email

  1. ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1(6) แห่งประมวลรัษฎากร
  2. มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี
  3. ต้องไม่เป็นผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติจัดทำและนำส่งใบกำกับภาษีและใบรับอิเล็กทรอนิกส์ด้วยระบบ e-Tax invoice & e-Receipt
icon etax implementation

ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Certificate)

ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หรือการบันทึกอื่นใด ซึ่งยืนยันความเชื่อมโยงระหว่างเจ้าของลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) กับข้อมูลสำหรับใช้สร้างลายมือชื่อดิจิทัลที่ออกโดยผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Certification Authority – CA) เพื่อใช้บ่งบอกถึงความมีตัวตนที่แท้จริงในโลกแห่งอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ให้บริการออกใบรับรองจะทำการรับรองข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงกุญแจสาธารณะที่ปรากฎในใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ว่าเป็นของบุคคลนั้นจริง โดยอาศัยเทคโนโลยีความปลอดภัยของข้อมูล ที่เรียกว่า เทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานกุญแจสาธารณะ (Public Key Infrastructure – PKI)

icon etax implementation

ลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature)

ข้อความหรือสัญลักษณ์ที่สร้างขึ้นทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยการคำนวณทางคณิตศาสตร์เข้ารหัสอัลกอริทึมแบบอสมการ (Asymmetric Key Algorithms) บนพื้นฐานวิทยาการเข้ารหัส (Encryption) และใช้กับระบบคู่กุญแจ (Key Pair) โดยนำไปคำนวณร่วมกับกุญแจส่วนตัว (Private Key) ของผู้ลงลายมือชื่อในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ในลักษณะที่สามารถจะใช้กุญแจสาธารณะ (Public Key) ของผู้ลงลายมือชื่อตรวจสอบได้ว่า ลายมือชื่อดิจิทัลนั้นได้สร้างขึ้นโดยกุญแจส่วนตัว (Private Key) ของผู้ลงลายมือชื่อนั้นหรือไม่ และข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการลงลายมือชื่อดังกล่าวได้มีการเปลี่ยนแปลงภายหลังการลงลายมือชื่อหรือไม่

icon etax implementation

ประโยชน์ของการรับรองข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

การลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature)

  1. สามารถตรวจสอบการถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
  2. สามารถเชื่อมโยงเอกสารเพื่อยืนยันตัวตนผู้ออกเอกสาร
  3. มีผลทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544

การประทับรับรองเวลา (Time Stamp)

เพื่อรับรองความมีอยู่ของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ ขณะที่มีการรับรองและสามารถตรวจพบได้หากมีการเปลี่ยนแปลง แก้ไขข้อมูล นับแต่เวลาที่ได้มีการรับรองเวลา

icon etax implementation

สามารถนำส่ง eTax invoice & eReceipt ให้กรมสรรพากรได้ 3 ช่องทาง

  1. Upload นำส่งข้อมูลด้วยวิธีการอัปโหลดผ่านทางเว็บไซต์กรมสรรพากร
  2. Service Provider เป็นวิธีการนำส่งข้อมูลโดยผ่านผู้ให้บริการที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด
  3. Host to Host นำส่งข้อมูลผ่านระบบนำส่งที่ผู้ประกอบการเชื่อมต่อกับกรมสรรพากรโดยตรง
icon etax implementation

เตรียมความพร้อม

กฎหมายที่จำเป็นต้องรู้และเข้าใจ วิธีการจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการปรับปรุงระบบงานขององค์กรให้รองรับการจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และพร้อมนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรได้ตามที่กฎหมายกำหนด มีรายละเอียด ดังนี้

  1. ศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
    1. พระราชบัญญัติ ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544
    2. ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์
    3. ประกาศสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง ข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิสก์ ว่าด้วยข้อความอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการซื้อขายสินค้าและบริการ ขมธอ.3-2560
    4. ประกาศสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง ข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ว่าด้วยการใช้ข้อความ XML สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงาน ขมธอ.14-2560
  1. ศึกษาวิธีการจัดทำและนำส่งใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่เว็บไซด์ https://etax.rd.go.th เมนูสนับสนุน > คำแนะนำ/คู่มือการใช้งาน
  2. พิจารณากระบวนการธุรกิจ (Business Process) และประเมินความพร้อมในการจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามรูปแบบที่เหมาะสมกับกิจการ
  3. ปรับปรุงหรือพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ของกิจการให้สามารถรองรับการจัดทำ ส่งมอบ และจัดเก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้
  4. จัดหาใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์จากผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Certification Authority – CA)
  5. ยื่นคำขอเป็นผู้ประกอบการจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (บ.อ.01) ผ่านโปรแกรมลงทะเบียนและตรวจสอบลายมือชื่อดิจิทัล (Ultimate Sign & Viewer)
YOU MIGHT ALSO LIKE