You are currently viewing การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของเอสโตเนีย

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของเอสโตเนีย

  • Post author:
  • Post category:e-tax invoice

พัฒนาการความก้าวหน้าทางดิจิทัลของประเทศเอสโตเนีย

นับตั้งแต่เริ่มดำเนินแผนยุทธศาสตร์ การปฏิวัติอิเล็กทรอนิกส์ (e-Revolution) ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาบูรณาการและใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน การสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่เอื้อต่อการพัฒนาธุรกิจสตาร์ตอัป การเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตให้แก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงการให้บริการสาธารณะในรูปแบบดิจิทัลหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็น e-Banking, e-Tax, e-Health Records, e-School, e-Prescription, m-Parking และ e-Police ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนโฉมให้กลายเป็น e-Estonia อย่างเต็มรูปแบบ และยังส่งผลทำให้เอสโตเนียกลายเป็นประเทศที่มีระบบนิเวศทางเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่มีความก้าวหน้าอย่างมากอีกด้วย

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิค (Development of Technical Infrastructure) 

โดยปัจจัยสำคัญในการพัฒนาระบบบริหารราชการและการให้บริการสาธารณะด้วยเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิคให้มีประสิทธิภาพและสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายข้อมูลภาครัฐได้อย่างสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย โดยในช่วงแรกของการดำเนินนโยบายปฏิรูปนั้น รัฐบาลเอสโตเนียได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ดังนี้

  1. ระบบระบุตัวตนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Identification) และบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Identification Card)
    โดยในปี 2002 รัฐบาลเอสโตเนียได้กำหนดให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุมากกว่า 15 ปี ต้องมีบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในกระบวนการระบุตัวตนเมื่อต้องติดต่อทำธุรกรรมกับภาครัฐและภาคเอกชน เช่น ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งออนไลน์ (i-Voting) จดทะเบียนนิติบุคคล (e-Business Register) ยืนยันการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบดิจิทัล (Digital Banking) ตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวทางการแพทย์และประวัติการรักษาพยาบาล (e-Health and e-Prescription) รวมถึงใช้เป็นเอกสารยืนยันตัวตนในการเดินทางภายในสหภาพยุโรป ส่วนการทำงานของระบบ e-Identification นี้ จะอาศัยการตรวจสอบรหัสผ่านส่วนบุคคลของผู้ถือบัตร เพื่อยืนยันตัวตนและป้องกันบุคคลอื่นนำไปแอบอ้างใช้งานซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการกำกับดูแลระบบดังกล่าวคือ RIA (Estonian Information Systems Authority)
  2. ระบบการเข้าถึงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Portal)
    รัฐบาลเอสโตเนียได้พัฒนา e-Government Portal ขึ้น เพื่อเป็นช่องทางให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลและการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐไว้อย่างสมบูรณ์แบบ อีกทั้งยังมีระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่เข้มงวด โดยประชาชน ผู้ประกอบการ และข้าราชการ สามารถล็อกอินเข้าสู่ระบบเพื่อใช้งาน e-Government Portal ได้ด้วย e-Identification Card
  3. ระบบโครงข่ายเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ (EEBone)
    เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านโครงสร้างพื้นฐานทางสารสนเทศ (IT infrastructure) ภายในหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลเอสโตเนียได้ริเริ่มโครงการพัฒนาระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีชื่อว่า “EEBone” หรือ “Peatee” ขึ้น ในปี 1998 เพื่อใช้เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงข้อมูลคอมพิวเตอร์ในหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศเข้าด้วยกัน และอนุญาตให้มีการเข้าถึงระบบอินทราเน็ตและอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งเปรียบเสมือนการพัฒนาเซิร์ฟเวอร์กลางของรัฐบาลที่ทุกหน่วยงานสามารถเข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานอื่น ๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ในปี 2014 คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (The European Commission) ได้พัฒนาระบบการติดตามและรายงานตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Economy and Society Index: DESI) เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการประเมินความก้าวหน้าทางดิจิทัลของประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป โดยกำหนดตัวชี้วัดสำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเชื่อมต่อ (Connectivity) ด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) ด้านการใช้บริการอินเทอร์เน็ต (Use of Internet Services) ด้านการบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัล (Integration of Digital Technology) และด้านการพัฒนาบริการดิจิทัลภาครัฐ (Digital Public Services)

ซึ่งล่าสุดในปี 2020 ที่ผ่านมา ประเทศเอสโตเนียมีคะแนนรวม DESI สูงเป็นอันดับที่ 7 จาก 28 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป โดยมีคะแนนด้านบริการดิจิทัลภาครัฐและการพัฒนาทุนมนุษย์อยู่ในเกณฑ์ดีมากแม้ว่าจะประสบกับสภาวะขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นอุปสรรคประการสำคัญต่อภาคการลงทุนภายในประเทศก็ตาม นอกจากนี้ ประเทศเอสโตเนียยังมีปริมาณการใช้งานบริการอินเทอร์เน็ตอยู่ในระดับสูง สอดคล้องกับความพยายามของภาครัฐที่พยายามพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ต ทั้งในแบบบรอดแบนด์และแบบไร้สาย ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาเครือข่าย 5G ที่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น นับตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา

ขอขอบคุณที่มา : Etda Thailand