You are currently viewing ภาษีธุรกิจ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และผลิตรถยนต์

ภาษีธุรกิจ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และผลิตรถยนต์

  • Post author:
  • Post category:e-tax invoice

  การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในไทย ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศคิดเป็นสัดส่วน 60-80% ของมูลค่าชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งหมด เนื่องด้วยการทำข้อตกลงการค้าเสรีและการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้มีผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาสู่ธุรกิจดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้ประกอบการที่กำลังสนใจในธุรกิจดังกล่าว สิ่งที่ต้องเตรียมตัวนอกจากเครื่องจักร วิธีการผลิต และเรื่องแรงงานที่ต้องควบคุม ยังมีอีกเรื่องที่สำคัญ นั่นก็คือ ภาษีธุรกิจ นั่นเอง

ในวันนี้เราจะมาแนะนำภาษีน่ารู้ของธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์หรือผลิตรถยนต์กันค่ะ

right-arrow

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

  สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์หรือผู้ผลิตรถยนต์ ที่มีสถานะเป็นบุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล ซึ่งมีรายได้จากการผลิตชิ้นส่วนเพื่อจำหน่าย ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) โดยสามารถเลือกหักค่าใช้ได้ได้ 2 แบบ คือ แบบเหมาอัตราร้อยละ 60 หรือหักค่าใช้จ่ายตามจริง โดยต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีละ 2 ครั้ง  คือ

  • ครั้งแรกยื่นตามแบบ ภ.ง.ด.94 ในเดือนกันยายนสำหรับเงินได้ในเดือน มกราคม-มิถุนายน
  • ครั้งที่ 2 ยื่นตามแบบ ภ.ง.ด.90 ในเดือนมีนาคมของปีถัดไป สำหรับเงินได้ในเดือนมกราคม-ธันวาคม โดยนำภาษีที่จ่ายครั้งแรกมาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้ ในครั้งที่ 2
right-arrow

2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล

   สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์หรือผู้ผลิตรถยนต์ ที่มีการจดทะเบียนเป็นบริษัท เป็นห้างหุ้นส่วน ห้างร่วมค้า หรือเป็นคณะบุคคล ต้องมีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยภาษีเงินได้นิติบุคคลจะใช้รอบระยะเวลาบัญชีในการคำนวนและกำหนดเวลาในการยื่นภาษี ซึ่งจะเริ่มต้นและสิ้นสุดลงเมื่อใดก็ได้ โดยยอดภาษีจะคำนวณจากกำไรสุทธิคูณด้วยอัตราภาษีที่กำหนด

การยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลสามารถยื่นได้ 2 ครั้ง คือ

  • ภาษีเงินได้ครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ยื่นตามแบบ ภ.ง.ด.51 ภายใน 2 เดือนนับแต่ วันครบ 6 เดือนของรอบระยะเวลาบัญชี
  • ภาษีเงินได้สิ้นรอบระยะเ วลาบัญชี ยื่นตามแบบ ภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วันนับแต่ วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี โดยนำภาษีที่จ่ายในครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีมาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้เมื่อสิ้นรอบเวลาบัญชี

   ผู้ประกอบการสามารถยื่นแบบชำระภาษีต่อกรมสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่หรือทางอินเทอร์เน็ต

right-arrow

3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

   คือ การเก็บภาษีจากการขายสินค้าและการให้บริการ โดยปกติจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ซึ่งผู้ประกอบผลิตชิ้นส่วนรถยนต์หรือผลิตรถยนต์ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย โดยต้องยื่นจดทะเบียนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีรายได้เกิน ซึ่งผู้ประกอบการยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือน โดยยื่นแบบภ.พ. 30 ทุกเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ไม่ว่าจะมียอดขายหรือไม่ก็ตามค่ะ

right-arrow

4. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

   คือ การเก็บภาษีล่วงหน้าเมื่อมีการรับเงิน เหมือนเป็นการจ่ายภาษีล่วงหน้า ทำให้ไม่ต้องจ่ายภาษีก้อนใหญ่ในทีเดียว แล้วนำส่งเป็นภาษีให้กรมสรรพากรไม่เกินวันที่ 7 ของเดือนถัดไป

สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์หรือผลิตรถยนต์ จะมีรายการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เช่น

  • กรณีที่มีลูกค้าที่เป็นนิติบุคคลมาจ้างให้ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์หรือรถยนต์ให้ ผู้ประกอบการจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 เพื่อนำส่งภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป หรือ วันที่ 15 หากยื่นออนไลน์
  • กรณีที่ผู้ประกอบการมีการเช่าโรงงานหรือออฟฟิศจากบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ผู้ประกอบการจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 5 เพื่อนำส่งภายใน วันที่ 7 ของเดือนถัดไป หรือ วันที่ 15 หากยื่นออนไลน์
right-arrow

5. ภาษีนำเข้าและภาษีส่งออก

   หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบจัดเก็บภาษีนำเข้าและส่งออกสินค้าคือ กรมศุลกากร ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง 

ภาษีการนำเข้าสินค้า

สำหรับผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์หรือผลิตรถยนต์ที่ต้องการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อนำมาทำชิ้นส่วนหรือผลิตรถยนต์ ต้องมีการเสียภาษีนำเข้า เช่น เหล็กลวด เหล็กเส้น เหล็กแผ่นเคลือบ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 20-35 หรือสั่งอะไหล่รถยนต์มาเป็นส่วนประกอบต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 30

โดยสามารถคำนวณภาษีได้จาก อากรขาเข้า (30%) + ภาษีมูลค่าเพิ่ม (7%)  = ค่าภาษีทั้งหมดที่ต้องชำระ

ภาษีการส่งออกสินค้า

สำหรับผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์หรือผลิตรถยนต์ที่ต้องการส่งออกอะไหล่รถยนต์ไปขายยังต่างประเทศ จะต้องเสียอัตราภาษีส่งออกในอัตราร้อยละ 0

right-arrow

6. ภาษีสรรพสามิต

   ภาษีสรรพสามิต  เป็นการเก็บภาษีการขายเฉพาะที่เรียกเก็บจากสินค้าที่อาจมีผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภคหรือศีลธรรมอันดี หรือสินค้าที่มีลักษณะเป็นการฟุ่มเฟือย หรือสินค้าที่ได้รับผลประโยชน์เป็นพิเศษจากรัฐ หรือสินค้าที่ก่อให้เกิดภาระต่อรัฐบาลในการที่จะต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างเพื่อให้บริการแก่ผู้บริโภค หรือเป็นสินค้าก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับธุรกิจผลิตรถยนต์ จะมีการเสียภาษีสรรพสามิตรตามขนาดเครื่องยนต์ เช่น

  • รถยนต์ อะไหล่และส่วนประกอบที่มีขนาดเครื่องยนต์ถึง 2000 ซีซี อัตราภาษีร้อยละ 20
  • รถยนต์ อะไหล่และส่วนประกอบที่มีขนาดเครื่องยนต์เกินกว่า 2001 ซีซี อัตราภาษีร้อยละ 30
  • รถยนต์ขนาดใหญ่เช่น รถบัส และรถบรรทุกหนัก อัตราภาษีร้อยละ 10
  • รถจักรยานยนต์ และส่วนประกอบขนาดเครื่องยนต์มากกว่า 125 ซีซี อัตราภาษีร้อยละ 10

สรุป ภาษีธุรกิจ ที่ผู้ประกอบธุรกิจผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์หรือผลิตรถยนต์ต้องรู้

ภาษีธุรกิจ รถยนต์
ภาษีธุรกิจ รถยนต์