ใบทะเบียนพาณิชย์ ที่ใครหลายๆ คนมักเข้าใจผิด ว่าการจดทะเบียนภาษีคือ การเข้าสู่ระบบภาษีแล้ว และได้เสียภาษีแล้ว “การจดทะเบียนพาณิชย์ไม่ใช่การเสียภาษี” แต่เป็น “การจดแจ้งต่อกรมธุรกิจการค้า เพื่อแสดงว่าธุรกิจของคุณมีตัวตนจริง” เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ ส่วนการเสียภาษีเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย ต่อให้ไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ หากมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดยังไงก็ต้องมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี
ผู้จดทะเบียนพาณิชย์ในนามบุคคลธรรมดา มีภาระหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งในหนึ่งปี ต้องยื่นภาษี 2 ครั้ง คือแบบ ภ.ง.ด. 94 ภาษีครึ่งปี, แบบ ภ.ง.ด.90 ภาษีทั้งปี โดยลักษณะของการหักต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายมีให้เลือกแบบหักค่าใช้จ่ายจริงต้องมีเอกสาร หลักฐาน หรือจะหักแบบเหมาจ่ายตามอัตรา ร้อยละที่กฎหมายกําหนด ซึ่งก็ควรดูตามความเหมาะสมของประเภทธุรกิจว่าแบบใดจะเสียภาษีน้อยกว่า ส่วนจะเสียภาษีมากน้อยหรือไม่ เสียภาษีขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนของแต่ละบุคคล
ทั้งนี้ หากรายได้จากการขาย/บริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนเป็น ผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
"ผู้ที่มีหน้าที่จดทะเบียนพาณิชย์" ได้แก่
- บุคคลธรรมดาคนเดียว (กิจการเจ้าของคนเดียว)
- ห้างหุ้นส่วนสามัญ
- นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ที่มาตั้งสำนักงานสาขาในประเทศไทย
- ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด
- บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด
กรณีที่ผู้ประกอบพาณิชยกิจเป็นคนต่างด้าวหรือนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่มา ตั้งสำนักงานสาขาในประเทศไทย จะต้องตรวจสอบดูด้วยว่ากิจการค้าที่ดำเนินการนั้นต้องได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 หรือไม่ หากเป็นกิจการค้าที่ต้องได้รับอนุญาต จะต้องได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าก่อนยื่นจดทะเบียนพาณิชย์
จะเห็นได้ว่าต่อให้เป็นกิจการเจ้าของคนเดียวก็มีหน้าที่จดทะเบียนพาณิชย์ แต่ต้องประกอบกิจการค้า ซึ่งเป็นพาณิชยกิจตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องให้ ผู้ประกอบการพาณิชยกิจต้องจดทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2553 ดังนี้
- โรงสีข้าวและโรงเลื่อยที่ใช้เครื่องจักร
- ขายสินค้าซึ่งในวันหนึ่งขายได้เป็นเงิน ตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป หรือมีสินค้าดังกล่าวไว้ เพื่อขายมีค่ารวมทั้งสิ้นเป็นเงินตั้งแต่ 500 บาท ขึ้นไป
- นายหน้าหรือตัวแทนค้า ซึ่งทำการเกี่ยวกับสินค้าและสินค้านั้นมีค่ารวมทั้งสิ้นในวันหนึ่งวันใดเป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป
- หัตถกรรมหรืออุตสาหกรรม และขายสินค้าที่ผลิตได้ มีค่ารวมทั้งสิ้นในวันหนึ่งวันใด เป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป หรือสินค้าที่ผลิตได้ มีค่ารวมทั้งสิ้นเป็นเงินตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป
- ขนส่งทางทะเล การขนส่งโดยเรือกลไฟหรือเรือยนต์ประจำทาง การขนส่งโดยรถไฟ การขนส่งโดยรถราง การขนส่งโดยรถยนต์ ประจำทาง การขายทอดตลาด การรับซื้อขาย การรับซื้อที่ดิน การให้กู้ยืมเงิน การรับแลกเปลี่ยนหรือ ซื้อขายเงินตราต่างประเทศ การซื้อหรือขายตั๋วเงิน การธนาคาร การโพยก๊วน การทำโรงรับจำนำ และการทำโรงแรม
- ขายให้เช่า ผลิต หรือรับจ้างผลิตแผ่นซีดีแถบบันทึก วีดีทัศน์ แผ่นวีดีทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่น วีดีทัศน์ระบบดิจิทัล เฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง
- ขายอัญมณีหรือเครื่องประดับ ซึ่งประดับด้วยอัญมณี
- ซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
- บริการอินเทอร์เน็ต
- ให้เช่าพื้นที่เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย
- บริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขาย สินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
- การให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้อินเทอร์เน็ต
- การให้บริการฟังเพลง และร้องเพลงโดยคาราโอเกะ
- การให้บริการเครื่องเล่นเกมส์
- การให้บริการตู้เพลง
- โรงงานแปรสภาพ แกะสลัก และการ หัตถกรรมจากงาช้าง การค้าปลีก การค้าส่งงาช้าง และ ผลิตภัณฑ์จากงาช้าง
หมายเหตุ : ผู้ประกอบพาณิชยกิจรายการที่ 1-5 ยกเว้นผู้ประกอบพาณิชยกิจที่เป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด
พาณิชยกิจที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ได้แก่
- การค้าเร่ การค้าแผงลอย
- การบำรุงศาสนาหรือเพื่อการกุศล
- นิติบุคคลซึ่งได้มีพระราชบัญญัติ หรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้น
- กระทรวง ทบวง กรม
- มูลนิธิ สมาคม สหกรณ์
- พาณิชยกิจของกลุ่มเกษตรกรที่ได้ จดทะเบียนตาม ปว.141 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2515
สถานที่จดทะเบียนพาณิชย์
- ในเขตกรุงเทพมหานคร สำนักงานเศรษฐกิจ การคลัง สำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร และ ฝ่ายปกครอง สํานักงานเขตทุกแห่ง
- ในภูมิภาคยีนจดที่เทศบาล องค์การบริหาร ส่วนตำบล หรือเมืองพัทยา แล้วแต่กรณี
หมายเหตุ : จดทะเบียนพาณิชย์ในท้องที่ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มประกอบพาณิชยกิจ
เมื่อจดทะเบียนพาณิชย์แล้ว ให้จัดทำป้ายชื่อที่ใช้ในการประกอบพาณิชยกิจไว้ ที่หน้าสำนักงานและสำนักงานสาขา (ถ้ามี) โดยเปิดเผยภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้จดทะเบียน ป้ายชื่อจะต้องเป็นอักษรไทย อ่านได้ง่ายและชัดเจน อาจมีอักษรต่างประเทศด้วยก็ได้ สามารถทำบนแผ่นไม้โลหะ กระจก กำแพง หรือผนัง แต่ต้องใช้ชื่อให้ตรงกับชื่อที่จดทะเบียนไว้และถ้าเป็นสำนักงานสาขาต้องมีคำว่า “สาขา” ไว้ด้วย
สำหรับใบทะเบียนพาณิชย์ที่ได้รับจะต้องแสดงไว้ที่สถานประกอบการในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ถ้าหากสูญหายต้องยื่นคําขอรับใบแทนใบทะเบียนพาณิชย์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สูญหาย
กรณีที่เลิกประกอบกิจการแล้ว ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันเลิกประกอบพาณิชยกิจ อย่าลืมว่าตอนเริ่มธุรกิจได้ทำให้ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ดังนั้น เมื่อเลิกธุรกิจก็ต้องดำเนินการให้ถูกต้องเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลังได้
บทลงโทษ
- ประกอบพาณิชยกิจโดยไม่จดทะเบียน แสดงรายการเท็จ ไม่ยอมให้ถ้อยคำ ไม่ยอมให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบในสำนักงาน มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
กรณีไม่จดทะเบียนอันเป็นความผิดต่อเนื่องปรับอีกวันละไม่เกิน 100 บาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ - ถ้าใบทะเบียนพาณิชย์สูญหายไม่ยื่นคำร้องขอใบรับแทน หรือไม่แสดงใบทะเบียนพาณิชย์ไว้ที่สำนักงาน ที่เห็นได้ง่าย ไม่จัดทำป้ายชื่อ มีความผิดปรับไม่เกิน 200 บาท และถ้าเป็นความผิดต่อเนื่อง ปรับอีกวันละไม่เกิน 20 บาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
- ผู้ประกอบพาณิชยกิจซึ่งกระทำการฉ้อโกงประชาชน ปนสินค้าโดยเจตนาทุจริต ปลอมสินค้า หรือกระทำการทุจริตอื่นใดอย่างร้ายแรงในการประกอบกิจการจะถูกถอนใบทะเบียนพาณิชย์ เมื่อถูกสั่งถอนใบทะเบียนพาณิชย์แล้ว จะประกอบกิจการต่อไปไม่ได้ เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะสั่งให้รับจดทะเบียนพาณิชย์ใหม่
- ผู้ประกอบพาณิชยกิจที่ถูกสั่งถอนใบทะเบียนพาณิชย์แล้ว ยังฝ่าฝืนประกอบพาณิชยกิจต่อไป มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือทั้งปรับทั้งจำ
ที่มา : กรมสรรพากร, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า