การแข่งขันทางธุรกิจในปัจจุบันถือว่ามีการแข่งขันที่เข้มข้นเป็นอย่างมาก ทั้งการขายแบบเปิดหน้าร้าน หรือ การขายแบบออนไลน์ ล้วนเต็มไปด้วยคู่แข่งที่ทำให้กิจการรู้สึกถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งกระแสสังคม ความต้องการของลูกค้าก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการจะแข่งกับคนอื่น ๆ ได้ กิจการย่อมต้องมีกลเม็ดต่าง ๆ เพื่อมาพิชิตใจลูกค้า ทั้งการลด แลก แจก แถม ซึ่งเรียกวิธีการเหล่านี้ว่ารายการส่งเสริมการขาย แน่นอนว่าเป็นวิธีการดึงดูดลูกค้าที่เห็นผลอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่สำคัญก่อนที่ผู้ประกอบการจะตัดสินใจเลือกการส่งเสริมการขายให้กับกิจการของตนเอง ผู้ประกอบการควรทำความเข้าใจภาษีที่เกิดจากรายการส่งเสริมการขายด้วย หากไม่เข้าใจเรื่องภาษีที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการขายแล้ว อาจเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย นอกจากกำไรจะลดลงแล้ว ยังอาจต้องต้องเสียเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม ดังนั้นผู้ประกอบการควรทำความรู้จักกับภาษีที่มาพร้อมกับรายการส่งเสริมการขาย เช่น ภาษีเกี่ยวกับของแจก เพื่อให้เลือกได้อย่างเหมาะสมและทำถูกต้องตามหลักภาษี
ในวันนี้เรามีรายการส่งเสริมการขายที่นิยมใช้ 8 วิธีมาให้เรียนรู้กันค่ะ
1. ของแถม (Premium)
การแถมสินค้าไปกับสินค้าที่ลูกค้าซื้อ กิจการไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ว่าสินค้าที่แถมนั้นจะเป็นประเภทและชนิดเดียวกันกับสินค้าที่ขายหรือบริการก็ตาม เพียงแต่ต้องเข้าเงื่อนไข คือ
- ต้องแถมไปพร้อมกับการขายสินค้าหรือบริการ
- มูลค่าของแถมต้องน้อยกว่ามูลค่าของที่ขาย
- ต้องระบุของแถมในใบกำกับภาษี
ถ้าตรงตามทั้ง 3 เงื่อนไข ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
2. การแจกหรือให้สินค้าเป็นของรางวัล
การแจกหรือให้สินค้าเป็นของรางวัลไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นมีเงื่อนไขดังนี้
- ต้องเป็นการแจกให้ผู้รับบริการในแต่ละวัน
- มูลค่าของสินค้าที่แจกหรือให้เป็นรางวัลต้องมีมูลค่าไม่เกินมูลค่าของสินค้าที่ขายหรือมูลค่าของการให้บริการ
ถ้าการแจกหรือให้สินค้าเป็นรางวัล ไม่เข้าเงื่อนไขที่กล่าวมาดังกล่าว มูลค่าของสินค้าที่แจกหรือให้เป็นรางวัลต้องนำมารวม คำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีด้วย เช่น การให้รางวัลลูกค้าที่ส่งชิ้นส่วนมาชิงโชค รางวัลจากการแข่งขัน รางวัลที่ ได้รับจากการประกวด เป็นต้น
3. ของขวัญและของชำร่วย
การแจกหรือการให้ของขวัญของชำร่วยเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น เทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ การเปิดแนะนำสินค้าใหม่ โดยมีเงื่อนไขดังนี้
- เป็นสิ่งของโดยทั่วไป ที่ธุรกิจนิยมให้กันเช่น ปฏิทิน สมุดบันทึกประจำวัน (Diary) หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับของขวัญ หรือของชำร่วย
- มีชื่อผู้ประกอบการชื่อเครื่องหมายการค้าของผู้ประกอบการปรากฏอยู่
- ราคาของสินค้าที่ให้จะต้องเหมาะสม
4. การแจกสินค้าตัวอย่าง (Sample)
คือการแจกผลิตภัณฑ์ในปริมาณน้อยให้แก่ลูกค้า ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้ลูกค้ามีประสบการณ์การใช้สินค้าโดยตรง เป็นส่งเสริมทัศนคติในทางบวกและกระตุ้นให้ลูกค้าเกิดความต้องการซื้อสินค้า ๆ ต่อไป ซึ่งการแจกสินค้าเพื่อส่งเสริมการขายนั้นไม่ต้องเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่ม และสามารถนำต้นทุนของสินค้าที่แจกมาเป็น รายจ่ายใน การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้อีกด้วย แต่ขอเน้นย้ำกันอีกครั้งว่า ต้องเป็นการแจกเพื่อส่งเสริมการขายเท่านั้น การแจกสินค้าตัวอย่างแก่บุคคลที่มาเยี่ยมโรงงาน หรือ ไม่ใช่การแจกเพื่อสงเสริมการขายต้องมีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
5. การให้บัตรกำนัล คูปอง
การให้บัตรกำนัลหรือคูปองแก่ลูกค้าเพื่อลูกค้านำมาซื้อสินค้าหรือรับบริการในครั้งต่อไป โดยจะได้รับส่วนลดตามราคาที่กำหนดไว้ในบัตรกำนัลหรือคูปอง กรณีนี้ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะการใช้บัตรกำนัลหรือคูปองไม่ถือว่ามีการขายสินค้าหรือให้บริการ ยกเว้น ในกรณีบริษัทมีระบบตัวแทนจำหน่าย และต้องการส่งเสริมการขายให้กับตัวแทน จึงมีการใส่ส่วนลดไปกับตัวสินค้า เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าพร้อมใช้ส่วนลด บริษัทจะคืนส่วนลดตรงนี้ไปให้กับตัวแทน เงินที่คืนให้ตัวแทนจะถือว่าเป็นเงินชดเชย จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษี เงินได้ ณ ที่จ่าย จากตัวแทนจำหน่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ของเงินชดเชย
6. สินค้าให้ลูกค้าทดสองใช้ก่อนซื้อ
การให้ลูกค้านำสินค้าไปใช้ก่อนซื้อเพื่อทดลองประสิทธิภาพของสินค้าและลูกค้าจะต้องส่งมอบสินค้านั้นคืนเมื่อทดลองใช้เสร็จ โดยสินค้าดังกล่าวต้องไม่ใช้ของใช้สิ้นเปลืองและสินค้ามีไว้สำหรับทดลองใช้เป็นการชั่วคราว จึงจะไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
7. การรับประกันสินค้า
กิจกรรมในลักษณะนี้เป็นการสร้างเงื่อนไขของกิจการเพื่อคืนเงินส่วนหนึ่งให้กับลูกค้า โดยมีการกำหนดเวลา โดยลูกค้าต้องส่งหลักฐานขอรับคืนเงินภายในเวลากำหนด ในกรณีต่อไปนี้ถือว่าเงินส่วนลด มีลักษณะเป็นเงินรางวัล เนื่องจากการส่งเสริมการขาย ซึ่งกิจการมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายใน อัตราร้อยละ 3.0 ของเงินส่วนลดหรือเงินอุดหนุน
8. รางวัลจากการประกวด แข่งขัน ชิงโชค
การแข่งขัน คือ การส่งเสริมการขายที่ลูกค้าแข่งขันกันเพื่อให้ได้รับรางวัลจากความสามารถหรือทักษะของลูกค้าเอง ส่วนการชิงรางวัล คือ เป็นการส่งเสริมการขายที่ลูกค้าส่งชื่อเข้าร่วม การรับรางวัลนั้นจะใช้วิธีการสุ่มเพื่อหาผู้ชนะ ซึ่งเป็นวิธีการที่นิยมมาก
ภาษีจากการประกวด แข่งขันและชิงโชค
กิจการเป็นผู้จ่ายเงินรางวัลให้แก่ลูกค้า ดังนั้นกิจการมีหน้าที่หักหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 5 ของเงินรางวัล
ในส่วนของกิจการที่เป็นผู้จัดการแข่งขัน หรือ การชิงรางวัล ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากเงินที่เป็นรางวัล เนื่องจากถือว่าเป็นกิจกรรมส่งเสริมการขาย
ในส่วนของลูกค้า เงินที่ได้รับจากการชิงรางวัลจะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 โดยรายได้จากเงินชิงรางวัลจะไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ การหักค่าใช้จ่ายก็ต้องเป็นไปตามความจริงและมีความสมควรเท่านั้น นอกจากนี้หากกิจการได้หักภาษี ณ ที่จ่าย และได้นำส่งกรมสรรพากรไว้แล้ว ให้ ถือว่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายนั้นเป็นเครดิตภาษีที่ลูกค้าสามารถนำมาใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในตอนสิ้นปี