You are currently viewing “ปิดงบการเงิน” เรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม!
ปิดงบการเงิน

“ปิดงบการเงิน” เรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม!

  • Post author:
  • Post category:e-tax invoice

หนึ่งในหน้าที่สำคัญทางบัญชีสำหรับผู้ทำบัญชี หรือนิติบุคคลที่เป็นบริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด นั่นคือ ปิดงบการเงิน เพื่อส่งงบการเงินแก่ทางสรรพากรและกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หากไม่มีการปิดงบการเงินในแต่ละรอบบัญชี และไม่มีการนำส่งงบการเงิน แน่นอนว่าจะต้องมีโทษปรับตามกฎหมาย วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจกันว่า งบการเงินคืออะไร ? กำหนดส่งเมื่อไร ? หากไม่ส่งจะมีผลอย่างไร ? เพื่อให้ทุกคนเข้าใจการปิดงบการเงินมากขึ้น  

right-arrow

ปิดงบการเงิน คืออะไร ?

ก่อนจะทำการปิดงบการเงิน ต้องทราบก่อนว่างบการเงินคืออะไร  

งบการเงิน คือ รายงานทางการเงินและบัญชี เกี่ยวกับรายงานทางการเงินของการดำเนินงานในธุรกิจนั้น เพื่อให้ทราบถึงสถานะทางการเงินของนิติบุคคล ผลการดำเนินกิจการ และฐานะทางการเงินของบริษัท อีกทั้งยังทำให้ทราบถึงทิศทางการบริหารงานในธุรกิจ 

ฉะนั้น“การปิดงบการเงิน” หมายถึง  การจัดการกับงบการเงินเมื่อถึงกำหนดสิ้นรอบบัญชี ที่จำเป็นต้องดำเนินการปิดงบการเงินและนำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและสรรพากรตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งหากไม่มีการส่งงบการเงิน จะมีโทษปรับตามกฎหมาย 

right-arrow

กำหนดส่งงบการเงินคือวันไหนบ้าง

นอกจากการจัดการเอกสารให้ถูกต้องแล้ว ระยะเวลาในการยื่นปิดงบการเงิน ถือเป็นสิ่งที่นักบัญชีและเจ้าของกิจการต้องให้ความสำคัญโดยการยื่นปิดบัญชีครั้งแรกภายใน 12 เดือน นับแต่วันเริ่มทำบัญชีและให้ปิดบัญชีทุกรอบ 12 เดือน นับแต่วันปิดบัญชีครั้งก่อน ซึ่งการปิดบัญชีสามารถปิดเดือนไหนก็ได้ แต่ต้องปิดไม่เกิน 12 เดือน นับจากวันที่จัดตั้งบริษัท โดยมีข้อกำหนดว่า หากปิดงบในเดือนไหน ต้องปิดเดือนนั้นไปตลอด 

right-arrow

กำหนดเวลายื่นงบการเงิน สามารถจำแนกตามประเภทของนิติบุคคลได้ดังนี้

1. ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด 

นิติบุคคลที่ตั้งตามกฎหมายของต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย และกิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากรต้องยื่นงบการเงินภายใน 5 เดือนนับแต่วันปิดบัญชี 

ดังนั้นงบการเงินที่มีรอบปีบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม จะต้องยื่นงบการเงินภายในเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป 

2. บริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัด 

ต้องจัดทำงบการเงินเพื่อให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบรับรอง แล้วจึงนำเสนอเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่ โดยจะต้องจัดให้มีการประชุมเพื่ออนุมัติงบการเงิน ภายใน 4 เดือน นับแต่วันปิดบัญชี และนำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ภายใน 14 วัน นับจากวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี 

ดังนั้นรอบปีบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี จะต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นภายในเดือนเมษายนและนำส่งงบการเงินภายในเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป 

right-arrow

หากไม่ ปิดงบการเงิน จะมีค่าปรับเท่าไร ? มีโทษอะไรบ้าง ?

เมื่อถึงเวลา ปิดงบการเงิน แน่นอนว่าทุกบริษัท ทุกองค์กรที่เป็นนิติบุคคล ต้องมีการปิดงบการเงินครั้งแรกภายใน 12 เดือน และต้องปิดงบการเงินต่อไปเรื่อย ๆ ทุกปี ในเดือนเดิม และหากมีการนำส่งงบการเงินล่าช้า หรือตั้งใจที่จะไม่ส่งงบการเงิน จะมีความผิดตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีโทษระหว่าง ปรับ ไปจนถึงจำคุก โดยมีอัตราค่าปรับซึ่งต้องจ่ายให้แก่ 2 หน่วยงาน ดังนี้ 

right-arrow

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือ หมายเรียกตำรวจ (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
รูปภาพจาก : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
  • อัตราค่าปรับกรณียื่นงบการเงินล่าช้าไม่เกิน 2 เดือน จะมีการปรับทั้ง ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี และ กรรมการผู้จัดการ หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน ในอัตราไม่เกิน 2,000 บาท ตามแต่ประเภทของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี 
  • อัตรค่าปรับกรณียื่นงบการเงินล่าช้าเกิน 2 เดือน แต่ไม่เกิน 4 เดือนจะมีการปรับทั้ง ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี และ กรรมการผู้จัดการ หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน ในอัตราไม่เกิน 8,000 บาท ตามแต่ประเภทของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี 
  • อัตราค่าปรับกรณียื่นงบการเงินล่าช้าเกินกว่า 4 เดือนขึ้นไป หรือไม่ยื่นงบการเงิน จะมีการปรับทั้ง ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี และ กรรมการผู้จัดการ หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน ในอัตราไม่เกิน 12,000 บาท ตามแต่ประเภทของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี 

โดยค่าปรับกรณีมิได้ยื่นงบการเงิน มีอายุความ 1 ปี นับจากวันที่ครบกำหนดยื่นงบการเงิน 

กรณีไม่นำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ภายใน 14 วันนับจากวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะมีโทษเปรียบเทียบปรับกรรมการคนละ 2,000 บาท 

right-arrow

ค่าปรับกรมสรรพากร

กรมสรรพากร
รูปภาพจาก : กรมสรรพากร

ค่าปรับอาญายื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 ซึ่งต้องนำส่งพร้อมกับงบการเงิน 

  • หากมีการยื่นแบบล่าช้าในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน มีค่าปรับ 1,000 บาท 
  • หากมีการยื่นแบบล่าช้าในระยะเวลาเกิน ระยะเวลา 7 วัน มีค่าปรับ 2,000 บาท 
  • ในกรณีไม่ยื่นงบการเงิน จะมีค่าปรับอาญา 2,000 บาท 
  • ในกรณีที่มีภาษีต้องชำระ จะมีเงินเพิ่ม ในอัตรา 1.5% ต่อเดือน (เศษของเดือนนับเป็น 1 เดือน)  

โดยค่าปรับมีอายุความ 1 ปี นับจากวันที่ครบกำหนดยื่นงบการเงินเช่นเดียวกับกรมพัฒนาธุรกิจ 

ดังนั้น การปิดงบการเงินจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล ย่อมต้องมีการปิดงบการเงินเมื่อถึงกำหนดสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี โดยนำส่งงบการเงินแก่ทางกรมสรรพากรและกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งหากมีการส่งล่าช้า หรือตั้งใจที่จะหลีกเลี่ยงการส่งงบการเงินจะมีโทษตามกฎหมาย โดยอัตราค่าปรับจะอยู่ที่ระยะเวลาที่ส่งล่าช้าและประเภทของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ฉะนั้น ธุรกิจควรยื่นงบการเงินให้ถูกต้อง และทันเวลา เพื่อลดการเสียเวลา และค่าปรับต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น