เมื่อชิปปิ้งได้จ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินการออกของแทนเจ้าของสินค้าให้กับผู้ประกอบการอื่นๆ เจ้าของสินค้าจะมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ซึ่งเจ้าของสินค้ามีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่ผู้ประกอบการและยื่นรายการภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.53 เพื่อนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายให้กับกรมสรรพากร แต่ชิปปิ้งก็สามารถที่จะออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่ผู้ประกอบการแทนเจ้าของสินค้าก็ได้เช่นกัน โดยให้ชิปปิ้งออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของเจ้าของสินค้า และชิปปิ้งจะต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.53 ให้แก่กรมสรรพากรเป็นรายฉบับแยกแต่ละผู้ประกอบการ โดยชิปปิ้งจะต้องระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของเจ้าของสินค้า ในช่อง “ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการอื่น ในช่อง “ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย” และระบุชื่อชิปปิ้งในช่อง “ผู้จ่ายเงิน” โดยจะต้องนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายให้แก่กรมสรรพากรไม่เกินวันที่ 7 ของเดือนถัดไป
ซึ่งกรมสรรพากรจะออกใบเสร็จรับเงินในนามของเจ้าของสินค้า และชิปปิ้งจะต้องส่งสำเนาแบบ ภ.ง.ด.53 พร้อมทั้งใบเสร็จรับเงินตัวจริงให้แก่เจ้าของสินค้าด้วย และต่อมาเมื่อเจ้าของสินค้าได้จ่ายเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินการออกของจำนวนดังกล่าวคืนให้แก่ชิปปิ้ง เจ้าของสินค้าจะไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายอีก
ดังนั้นเราจะเห็นว่า เงินทดรองจ่ายมีความสำคัญต่อธุรกิจชิปปิ้งหรือตัวแทนออกของ ซึ่งเราควรเรียนรู้และทำความเข้าใจ ทั้งวิธีการเบิกเงินล่วงหน้า ที่มีทั้งการออกใบรับเงินให้แก่เจ้าของสินค้าล่วงหน้า และเมื่อดำเนินงานเสร็จสิ้นจะนำค่าใช้จ่ายจริงมาเบิกเพื่อปิดบัญชีอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังมีวิธีการจ่ายเงินทดรองจ่ายแทนเจ้าของและเอกสารใบเสร็จรับเงินต่างๆ ที่ชิปปิ้งต้องจัดเก็บรวบรวมสำหรับนำมาเป็นหลักฐานในการเรียกเก็บเงินจากเจ้าของสินค้า เช่น ค่าใช้จ่ายที่มีใบเสร็จ และค่าใช้จ่ายที่ไม่มีใบเสร็จ รวมทั้งการทำความเข้าใจในเรื่องการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทนเจ้าของสินค้า ทั้งเรื่องการจัดทำแบบภาษีและการนำส่งภาษี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินธุรกิจชิปปิ้ง