Categories: e-tax invoice

ออก ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ทำได้อย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมายและถูกใจสรรพากร

      ใบกำกับภาษีอย่างย่อ เป็นสิ่งคุ้นตาของใครหลายๆ คน เพราะสามารถพบเจอได้เมื่อเราไปซื้อของตามห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ หรือร้านอาหาร แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบถึงความสำคัญและการนำไปใช้ ซึ่งเป็นเอกสารที่สำคัญมากในกิจการค้าปลีกที่ให้บริการรายย่อย และหากคุณกำลังเป็นเจ้าของกิจการที่กำลังหัวหมุนกับใบกำกับภาษีอย่างย่อ วันนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับใบกำกับภาษีอย่างย่อ คืออะไร มีเงื่อนไขอะไรบ้างและทำอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมายและถูกใจสรรพากร

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ คืออะไร ?

      ใบกำกับภาษีอย่างย่อ คือ เอกสารสำคัญในอีกรูปแบบหนึ่งสำหรับกิจการที่เป็น “กิจการค้าปลีก”ที่มีการจด VAT เพื่อเอาไว้เป็นหลักฐานแสดงมูลค้าสินค้าและบริการนั้น ๆ ในแต่ละครั้ง ซึ่งกิจการค้าปลีกที่พบเห็นได้ทั่วไป เช่น ร้านค้า โรงแรม และร้านอาหาร ซึ่งธุรกิจลักษณะนี้ ผู้ประกอบการสามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้เลย โดยไม่ต้องขออนุมัติจากกรมสรรพากร แต่ถ้าผู้ประกอบการที่ไม่ได้เป็นลักษณะข้างต้น ควรขออนุมัติการใช้งานกับทางกรมสรรพากรในการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อเพื่อความสะดวกในการใช้งานมากขึ้น โดยทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือมีการใช้บริการ ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีที่ถูกต้องให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ และต้องจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปทันทีที่ได้รับการร้องขอจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการอีกด้วย

ใครมีสิทธิ์ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ?

  1. กิจการที่อยู่ในระบบ VAT ที่มีลักษณะขายปลีก โดยเป็นการขายให้แก่ลูกค้าโดยตรง กิจการในลักษณะนี้ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ร้านขายของชำ ร้านขายยา และห้างสรรพสินค้า
  2. กิจการในระบบ VAT ที่ให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก เช่น ร้านอาหาร โรงแรม โรงภาพยนตร์ ซ่อมแซมทุกชนิด

รายการสำคัญที่ต้องมีใน ใบกำกับภาษีอย่างย่อ

  1. ชื่อ หรือชื่อย่อ และเลข 13 หลักของผู้ออกใบกำกับภาษี
  2. สิ่งนี้สำคัญมากต้องมี คำว่า “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ”
  3. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี
  4. ชื่อ ชนิด ประเภทสินค้า และมูลค่าของสินค้าหรือบริการ (ออกเป็นรหัสได้)
  5. วันที่ออกใบกำกับภาษี
  6. ข้อความที่ระบุในใบกำกับภาษีอย่างย่อว่ารวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว (VAT Included)
  7. ข้อความอื่น ๆ ที่สรรพากรกำหนด

      สิ่งที่ทำให้หลายคนหัวหมุนกับใบกำกับภาษี คือรายละเอียด การนำไปใช้ ข้อแตกต่าง ของใบกำกับภาษีอย่างย่อ ต่างกับใบกำกับภาษีแบบเต็มอย่างไร วันนี้เรามีสรุปแบบเข้าใจง่ายให้ดูกันค่ะ

ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ให้ถูกใจกรมสรรพากรและถูกต้องตามกฎหมาย

     กิจการมีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากสรรพากร คือ กิจการที่มีลักษณะค้าปลีกและได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น ร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร และหากกิจการต้องการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน (POS) ในการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ เพื่อให้สะดวกกับการทำงานมากขึ้น กิจการจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ดังนี้

  1. คำขออนุมัติ ให้ยื่นตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
  2. คุณสมบัติโดยย่อของเครื่องบันทึกการเก็บเงิน
  3. รายละเอียดรุ่น ยี่ห้อ หมายเลขประจำเครื่อง (Serial Number) และจำนวนเครื่อง บันทึกการเก็บเงินที่ขออนุมัติ
  4. แผนผังแสดงตำแหน่งการวางเครื่องบันทึกการเก็บเงิน
  5. ในกรณีที่มีการต่อเชื่อมเครื่องบันทึกการเก็บเงินเข้ากับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่น ให้แสดงแผนผังระบบการต่อเชื่อมดังกล่าวด้วย
  6. ตัวอย่างใบกำกับภาษีอย่างย่อ และตัวอย่างรายงานการขายสินค้าหรือการให้บริการ ประจำวันที่ออกด้วยเครื่องบันทึกการเก็บเงิน

        โดยคำขอต้องได้รับการอนุมัติก่อนถึงจะสามารถใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน (POS)  หากมีการฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท ทั้งนี้เพื่อความชัดเจนและเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ในการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ผู้ประกอบการที่จะประกอบกิจการการค้าปลีก ควรต้องมีการระบุในวัตถุประสงค์ของบริษัท พร้อมแจ้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (วัตถุประสงค์ของบริษัท) และ แจ้งทางกรมสรรพากร (ตามแบบแจ้งการเป็นผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม)

      นอกจากนี้ยังมีบทลงโทษอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับใบกำกับภาษีอย่างย่อ เช่น

  1. หากผู้ประกอบการไม่ทำใบกำกับภาษีหรือไม่ส่งมอบให้แก่ลูกค้าจะมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน
  2. รายการในใบกำกับภาษีอย่างย่อไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย เช่น ไม่ใส่คำว่าอย่างย่อ ในใบกำกับภาษีอย่างย่อ มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
  3. หากออกใบกับกำภาษีอย่างย่อเองโดยไม่มีคุณสมบัติในการออก มีโทษปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท หรือจำคุก 3 เดือนถึง 7 ปี
  4. ผู้ประกอบการมีเจตนาปลอมใบกำกับภาษี มีโทษปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท หรือจำคุก 3 เดือนถึง 7 ปี

     นอกจากบทลงโทษแล้ว ทางสรรพากรก็ยังมีการยืดหยุ่นในการออกใบกำกับภาษีที่น่าสนใจ ดังนี้ค่ะ

  1. หากขายสินค้าหรือบริการครั้งละไม่เกิน 1,000 ไม่ต้องออกใบกำกับภาษี แต่ถ้าลูกค้าขอต้องมีการออกให้
  2. ขายสินค้าในลักษณะรถเข็น แผงลอย รวมถึงการให้บริการแสดง กีฬา การประกวดที่จัดขึ้นแล้วเก็บเงินจากผู้ดู ผู้ฟัง ผู้เข้าร่วม ให้รวบรวมมูลค่าของการขายหรือการให้บริการใน 1 วันเพื่อทำใบกำกับภาษีอย่างย่อ 1 ฉบับเพื่อลงรายงานภาษีขายได้เลยค่ะ
  3. สถานบริการน้ำมันที่มีมูลค่าครั้งหนึ่งไม่เกิน 1,000 บาท สามารถไม่ออกใบกำกับภาษีได้ แต่ถ้าลูกค้าขอต้องมีการออกให้
  4. ถ้าขายของให้ลูกค้ารายหนึ่งซ้ำ ๆ กันจำนวนหลายครั้งใน 1 วันสามารถรวบรวมแล้วออกเป็นใบกำกับภาษีรวมเป็นครั้งเดียวในหนึ่งวันทำการ
  5. การลงรายงานภาษีขายสำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ไม่ต้องระบุชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือบริการก็ได้
aom

This website uses cookies.