You are currently viewing e-Revolution เอสโตเนีย ประเทศเศรษฐกิจดิจิทัล

e-Revolution เอสโตเนีย ประเทศเศรษฐกิจดิจิทัล

  • Post author:
  • Post category:e-tax invoice

การปฏิวัติอิเล็กทรอนิกส์ (e-Revolution) เกิดขึ้นจากการปรับปรุงระบบราชการของประเทศเอสโตเนียตามแผนปฏิวัติอิเล็กทรอนิกส์ (e-Revolution) ที่รัฐบาลประกาศใช้ในช่วงทศวรรษที่ 90 หลังจากได้รับเอกราชจากสหภาพโซเวียต เมื่อปี 1991 โดยรัฐบาลในขณะนั้นตระหนักถึงข้อจำกัดที่ว่า เอสโตเนีย เป็นประเทศเกิดใหม่ที่มีขนาดเล็ก มีจำนวนประชากรน้อย อีกทั้งยังไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ หรือจุดแข็งทางเศรษฐกิจที่จะสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกันได้ ดังนั้นจึงได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technologies: ICT) เพื่อที่จะศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับเสริมสร้างศักยภาพและความแข็งแกร่งให้แก่ประเทศ พัฒนาความได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive Advantage) ขึ้นใหม่ ควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบบริหารราชการให้มีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

การดำเนินนโยบายดังกล่าวส่งผลให้ในเวลาต่อมา เอสโตเนียกลายเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทั่งได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และสังคมแห่งข้อมูล (Information Society) ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก 

ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่าระบบบริหารงานราชการ (Public Management) และระบบการให้บริการสาธารณะ (Public Services) ของประเทศเอสโตเนียในปัจจุบันที่มีความทันสมัยและมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในกระบวนการต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปฏิวัติอิเล็กทรอนิกส์ข้างต้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ อาทิ บุคลากรภาครัฐที่มีความเชี่ยวชาญและมีความกระตือรือร้นในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างจริงจัง และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนนโยบายการปฏิรูประบบบริหารราชการ จนส่งผลให้กว่าร้อยละ 99 ของบริการสาธารณะในประเทศเอสโตเนียสามารถรองรับการใช้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตได้อย่างครอบคลุมตลอด 24 ชั่วโมง และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการทำธุรกรรมที่สำคัญทุก ๆ ด้าน

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แบ่งออกได้ 2 ส่วน ดังต่อไปนี้

ปัจจัยภายใน (Internal Drivers) 

คือ ข้อจำกัดด้านทรัพยากรซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้รัฐบาลเอสโตเนียริเริ่มปรับปรุงระบบราชการและการให้บริการสาธารณะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลจนเกิดเป็นการปฏิวัติอิเล็กทรอนิกส์ (e-Revolution) เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้ทัดเทียมประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ตลอดจนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสงครามและการเป็นอาณานิคมของสหภาพโซเวียตด้วย 

ผลพวงจากการปรับปรุงระบบราชการและการให้บริการสาธารณะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลนี้เอง จึงก่อให้เกิดหน่วยงานที่รับผิดชอบบริหารจัดการและดำเนินนโยบาย e-Revolution ขึ้น 5 หน่วยงานหลัก ดังต่อไปนี้

  1. กระทรวงการเศรษฐกิจและการสื่อสาร (Ministry of Economic Affairs and Communication) รับผิดชอบด้านกลยุทธ์และนโยบายหลักด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งนอกเหนือจากการพัฒนานโยบายด้านการจัดการข้อมูลภาครัฐแล้ว ยังมีหน้าที่ร่างกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการข้อมูลภาครัฐ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และระเบียบว่าด้วยนโยบายข้อมูลข่าวสารแห่งรัฐ (Principles of Estonian Information Policy)
  2. สำนักงานระบบข้อมูลข่าวสารแห่งรัฐ (Department of State Information Systems: RISO) ซึ่งรัฐบาลเอสโตเนียได้จัดตั้งสำนักงานระบบข้อมูลข่าวสารแห่งรัฐ (Department of State Information Systems: RISO) ขึ้นในปี 1993 โดยให้เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทำหน้าที่กลั่นกรองและให้ความเห็นชอบต่อนโยบายข้อมูลสารสนเทศและแผนงานที่เกี่ยวข้องตามที่หน่วยงานต่าง ๆ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จัดซื้อจัดจ้าง ประสานงานระหว่างหน่วยงานของภาครัฐด้านมาตรฐานของระบบงาน และความร่วมมือระหว่างประเทศด้านระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศของภาครัฐด้วย
  3. สำนักงานพัฒนาบริการข้อมูลสารสนเทศสังคม (Department of Information Society Services Development) เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการเศรษฐกิจและการสื่อสาร ที่มีอำนาจหน้าที่ในการประสานงานด้านการพัฒนาระบบการให้บริการสาธารณะของภาครัฐ โดยได้จัดทำคู่มือแนวทางการปฏิบัติ กำหนดปัจจัยด้านคุณภาพของการให้บริการ ออกแบบวงจรการพัฒนางานด้านการให้บริการ และศึกษาแนวทางการพัฒนาช่องทางการให้บริการแก่ประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  4. สำนักงานระบบบริหารข้อมูลแห่งเอสโตเนีย (Estonian Information System Authority: RIA) เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงการเศรษฐกิจและการสื่อสาร (RIA) มีหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ พัฒนาและบริหารจัดการระบบสารสนเทศของรัฐ รวมถึงดูแลระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทางเทคนิคหรือความเสี่ยงเชิงระบบ (Systematic Risk) ที่อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานในระบบต่าง ๆ นอกจากนี้ RIA ยังมีหน้าที่ดูแลระบบ Administration System for State Information Systems (RIHA) อีกด้วย
  5. ศูนย์บริการลงทะเบียนและระบบสารสนเทศ (Centre for Registers and Information Systems: RIK) ในด้านของการกำกับดูแลให้ระบบจัดการข้อมูลภาครัฐเป็นไปตามระเบียบและข้อกฎหมาย รวมไปถึงอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งนี้ รัฐบาลเอสโตเนียโดยกระทรวงยุติธรรมได้จัดตั้ง Centre for Registers and Information Systems (RIK) ขึ้น เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมเชิงนวัตกรรม เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการภาครัฐ และกำหนดนโยบายและกฎหมายทางอาญา ซึ่งที่ผ่านมา RIK ได้ดำเนินการพัฒนาและสร้างระบบการบริหารจัดการและระบบลงทะเบียนในเรื่องต่าง ๆ ที่สำคัญให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เช่น e-Business Register, e-Notary System, e-Land Register ระบบบริหารจัดการข้อมูลของศาล (Information System of Courts) ระบบระเบียนนักโทษ (Prisoners Register) ฐานข้อมูลอาชญากรรม (Criminal Records) และระบบ e-File จนกระทั่ง RIK ได้รับการยกย่องว่าเป็นหน่วยงานที่มีนักพัฒนาและนักบริหารจัดการระบบสารสนเทศที่มีศักยภาพและมีประสบการณ์เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศเอสโตเนีย

ทั้งนี้ หากพิจารณาเปรียบเทียบหน่วยงานที่มีลักษณะเดียวกันของประเทศไทยแล้ว จะพบว่า ประเทศไทยมีหน่วยงานด้านการบริหารจัดการ ประสาน และให้บริการข้อมูลสารสนเทศภาครัฐที่เชื่อมฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานอย่างเป็นเครือข่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA หน่วยงานภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีภารกิจหลักในการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการบูรณาการและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐ การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล และเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนทะเบียนข้อมูล โดย สพร. ได้พัฒนาศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data) ขึ้น ภายใต้ชื่อ “data.go.th” เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการเข้าถึงข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Data) ที่ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ได้โดยอิสระ สะดวก รวดเร็ว และตลอดเวลา

นอกจากนั้น ประเทศไทยยังได้จัดตั้ง สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มุ่งขับเคลื่อนภารกิจสำคัญด้านการกำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัล เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ รองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อผลักดันการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างบูรณาการและเชื่อมโยง โดยในปัจจุบัน ETDA ได้จัดให้มีบริการดิจิทัลแก่ภาครัฐและมาตรฐานต่าง ๆ เช่น ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) การประทับรับรองเวลาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Timestamping) ระบบตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (Web Validation) การยืนยันตัวตนตามมาตรฐานสากล (OpenID Connect) มาตรฐานลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) มาตรฐานใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice and e-Receive) ฯลฯ

ปัจจัยภายนอก (External Drivers) 

คือ การกระตุ้นให้รัฐบาลเอสโตเนียจำเป็นต้องประกาศกำหนดแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศออกจากกับดักความยากจน ยกตัวอย่างปัจจัยภายนอกที่สำคัญดังกล่าว เช่น กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนั้น และทำให้การเคลื่อนย้ายทรัพยากรทางเศรษฐกิจ การเคลื่อนย้ายแรงงาน และการรับส่งข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนธุรกรรมต่าง ๆ สามารถทำได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าและความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ซึ่งนับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของประเทศเอสโตเนียที่มีข้อจำกัดด้านทรัพยากรทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้านแรงงานและทรัพยากรธรรมชาติ

นอกจากนี้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในช่วงทศวรรษที่ 90 ก็ถือเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่ช่วยกระตุ้นและส่งเสริมนโยบาย e-Revolution ของรัฐบาลเอสโตเนีย โดยในขณะนั้นเริ่มมีการปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ จำนวนมาก เช่น สมาร์ตโฟน กล้องดิจิทัล อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ใหม่ ๆ รวมถึงเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านเสียงทางอินเทอร์เน็ต (Voice over Internet Protocol: VoIP) ซึ่งช่วยให้ธุรกิจสตาร์ตอัป (Start-Ups) สัญชาติเอสโตเนียอย่าง บริษัท Skype ประสบความสำเร็จอย่างมากในเวลาต่อมา และนับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่กระตุ้นให้รัฐบาลเอสโตเนียเร่งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและระบบนิเวศสตาร์ตอัป (Start-Ups Ecosystem) ควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบราชการและการให้บริการสาธารณะ เพื่อส่งเสริมการลงทุนในภาคเอกชน และพัฒนาจุดแข็งผ่านการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวได้ช่วยให้เอสโตเนียสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจและพัฒนาเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในเวลาอันสั้น จนก้าวสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย 

ขอขอบคุณที่มา : Etda Thailand